พระศาสนโศภน (ภา ภาณโก)
พระศาสนโศภน (ภา ภาณโก) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2423 (65 ปี 325 วัน ปี) |
มรณภาพ | 9 ตุลาคม พ.ศ. 2489 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | เปรียญธรรม 3 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร |
พระศาสนโศภน (ภา ภาณโก) (17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2423 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2489) เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง ประธานกรรมการคณะธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม และดำรงตำแหน่งสำคัญอีกหลายตำแหน่งในคณะสงฆ์ไทย
ประวัติ
[แก้]ชาติกำเนิด
[แก้]พระศาสนโศภน (ภา ภาณโก) มีนามเดิมว่า ใช้ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ภา ท่านเป็นบุตรคนเดียวของเถ้าแก่ชุนกับนางฟักทอง แซ่แต้ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2423 แรม 2 ค่ำ เดือน 12 ที่ตำบลวัดทองนพคุณ อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี บิดาท่านเสียชีวิตตั้งแต่ท่านอายุยังน้อย มารดาจึงแต่งงานใหม่มีบุตรชายอีกหนึ่งคนชื่อเทียนเป๊า ซึ่งภายหลังได้รับราชการทหารมียศและบรรดาศักดิ์เป็น พันโท พระสุวรรณชิต (วร กังสวร) (ชื่อและนามสกุลใหม่ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ประทานให้)[1]
อุปสมบท
[แก้]พระศาสนโศภนบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2440 ที่วัดบุรณศิริมาตยาราม มีพระปัญญาพิศาลเถระ (สิงห์ อคฺคธมฺโม) วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายมาอยู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่ออายุครบอุปสมบท ได้เข้าอุปสมบทที่วัดราชบพิธฯ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2442 โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระภัทรศีลสังวร (เทด) วัดราชผาติการามวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ภาณโก"
การศึกษา
[แก้]ก่อนบวชท่านได้ศึกษาภาษาไทยกับนายรองราชบรรหาร (แย้ม) อุปสมบทแล้วได้ศึกษาภาษาบาลีกับอาจารย์หลายท่าน ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ขณะดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าและพระองค์เจ้า พระยาธรรมปรีชา (ทิม) นายชู เปรียญ และนายนวลบ้าง ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดให้ไปเรียนกับพระองค์ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จนปี พ.ศ. 2441 ท่านสอบได้บาเรียนตรี (หลักสูตรเฉพาะของมหามกุฏราชวิทยาลัย) และปี พ.ศ. 2446 สอบบาลีสนามหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ได้รับพระราชทานพัดหน้านางพื้นแพรเหลืองปักดิ้นเลื่อม[2] ในการทรงตั้งเปรียญเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2447[3]
สมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2449 เป็นพระครูพุทธพากย์ประกาศ พระครูคู่สวด ฐานานุกรมในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต
- พ.ศ. 2451 เป็นพระครูวินัยธรรม พระครูฐานานุกรมในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต
- พ.ศ. 2453 เป็นพระครูวิจารณ์ธุรกิจ พระครูฐานานุกรมในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
- พ.ศ. 2461 เป็นพระครูปลัดสัมพิพัฒพรหมจรรยาจารย์ สรรพกิจวิธานโกศล โศภนวัตรจรรยาภิรัต มัชฌิมคณิศรสถาวีรธุรธารี พระครูปลัด ฐานานุกรมในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์[4]
- พ.ศ. 2466 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระมหาคณิศร พุทธศาสนิกนิกรปสาทาภิบาล สกลสังฆประธานมหาสถาวีรกิจการี นายกบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา ฐานานุกรมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า[5]
- พ.ศ. 2473 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวี นรสีหพจนปิลันธน์ คันถธุรบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
- พ.ศ. 2476 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพกวี ศรีวิสุทธิดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]
- พ.ศ. 2478 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุตโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาทียติคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี[8]
- พ.ศ. 2488 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นหิรัณยบัฏ ที่ พระศาสนโศภน วิมลญาณอดุลย์สุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูสิต ธรรมนิตยสาทร อุดมคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี[9]
ศาสนกิจ
[แก้]พระศาสนโสภณ ได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนพระธรรมวินัยให้แก่พระเณรที่บวชใหม่ในวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2458 ต่อมายังได้เป็นกรรมการสนามหลวงทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี เป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้ช่วยชำระพระไตรปิฎกบาลีและอรรถกถา
ในด้านการปกครองคณะสงฆ์ ท่านดำรงตำแหน่งสำคัญดังนี้
- กรรมการมหาเถรสมาคม
- ประธานอนุกรรมการมหาเถรสมาคม
- กรรมการคณะธรรมยุต
- เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
- สมาชิกสังฆสภา สังฆมนตรีช่วยว่าองค์การการปกครอง และเจ้าคณะจังหวัดพระนคร
มรณภาพ
[แก้]พระศาสนโศภน (ภา ภาณโก) อาพาธด้วยไข้กาฬ แต่แพทย์ปัจจุบันสันนิษฐานว่าเป็นฝีดาษ แม้อาการอาพาธจะรุนแรงแต่ท่านยังดำรงสติสัมปชัญญะดีอยู่ตลอด ในวาระสุดท้ายท่านกล่าวว่า "ไปละ อยู่กันเป็นสุข ๆ เถิด"[1] แล้วลมหายใจท่านก็ค่อย ๆ แผ่วลง จนถึงแก่มรณภาพเมื่อเวลา 23:25 น. วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2489[10] สิริอายุได้ 65 ปี 325 วัน พรรษา 47
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 สุเชาวน์ พลอยชุม, ตำนานพระธรรมปาโมกข์, อังกุรปัญญานุสรณ์, กรุงเทพฯ : วัดธาตุทอง, 2545, หน้า 93-8
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระสงฆ์สามเณรที่รับตำแหน่งปเรียญ, เล่ม 21, ตอนที่ 27, 2 ตุลาคม 2447, หน้า 451-2
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ทรงตั้งปเรียญ, เล่ม 21, ตอนที่ 27, 2 ตุลาคม 2447, หน้า 450-1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระนาม พระวรวงษ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์, เล่ม ๒๗, ตอน ๐ง, ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๒๖๒๓
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อเรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่ม 50, วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473, หน้า 2908
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความพระราชทานสมณศักดิ์, เล่ม 50, วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476, หน้า 2398
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความพระราชทานสมณศักดิ์, เล่ม 52, วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2478, หน้า 1892
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, ตอนที่ 72 เล่ม 62, วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2488, หน้า 720
- ↑ กรมศิลปากรม, ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, 2531, หน้า 159